เลือกที่จะมีความสุข
ถ้ารู้จักดึงศักยภาพตัวเองมาใช้อย่างเต็มที่ มนุษย์เราก็จะสามารถทำอะไรได้มากมาย
คำพูดแบบนี้หลายคนได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยครั้ง แต่มีน้อยคนที่สามารถเชื่อมโยงให้เห็นเป็นรูปธรรม นายแพทย์เทอดศักดิ์ เดชคง กลุ่มที่ปรึกษา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข สามารถพูดคุยเรื่องนี้และยกตัวอย่างได้ชัดเจน
ชีวิตบางแง่มุมของเขาน่าสนใจ เป็นนักเขียนที่มีผลงานหนังสือกว่า 20 เล่ม เล่มล่าสุด ตัดสินใจเลือกที่จะมีความสุข และช่วยทำเอกสารหลายชิ้นเพื่อใช้ในกระบวนการอบรมให้กรมสุขภาพจิต
เขามีบทบาทในการบรรยายและจัดคอร์สอบรมในการให้คำปรึกษาในหน้าที่การงานของกรมสุขภาพจิตและเป็นอาจารย์พิเศษทั้งมหาวิทยาลัยหัวเฉียวและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงใช้ศาสตร์ตะวันออกพวกไทเก๊ก ชี่กง และรำกระบอง นำมาปรับใช้กับผู้ป่วยหลายโรค ปรากฏว่า ผู้ป่วยหลายคนหายป่วยเร็วขึ้น นอกจากนี้เขายังต้องรักษาผู้ป่วยทุกวันอังคารที่โรงพยาบาลยุวประสาทและจัดรายการวิทยุชุมชนคลื่นเอฟเอ็ม 89.25 เมกะเฮิรตซ์ ทุกวันพุธ เวลา ช่วงเวลา 14.30 น.
“เมื่อสิบปีที่แล้ว งานของผมต้องดูแลผู้สูงอายุ ก็เลยต้องค้นคว้าเรื่องการออกกำลังกาย ก็เริ่มไปเรียนไทเก๊กปีกว่าๆ เพื่อมาสอนผู้สูงอายุ แต่กลายเป็นว่าสิ่งที่ผมเรียน ทำให้เรามีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องการทำงานและการใช้สมอง แล้วได้ฝึกชี่กงเพื่อนำมาปรับใช้อีก ผู้ป่วยทางกายที่เกิดจากใจอย่างพวก ไมเกรน หรือความดันสูง ภูมิแพ้หรือความเครียด แม้กระทั่งผู้ติดเชื้อ เรามีงานวิจัยเรื่องนี้ เมื่อมีการฝึกพวกนี้ทำให้สุขภาพดีขึ้น “
ความสนใจเรื่องศาสตร์ตะวันออก ทำให้คุณหมอเทอดศักดิ์เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับคนไข้และตัวเอง และทำให้เขากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งไทเก๊ก ชี่กงและรำกระบอง
“เช้าๆ ผมก็ต้องฝึกไทเก๊ก กระบอง ชี่กง แล้วก็วิ่ง เราก็เลือกเฉพาะบางท่าบางลักษณะที่เหมาะกับเรา อย่างกระบองที่ใช้ 51 ท่ารวดเร็วมาก อาจฝึกไทเก๊กก็แค่สิบนาที ชี่กงก็ประมาณ 10-15 นาที เราก็ทำเพราะรู้สึกว่าได้ประโยชน์ ผมฝึกพวกนี้มานานกว่า 10 ปี ซึ่งการฝึกพวกนี้ไม่ใช่แค่นึกถึงข้อดีอย่างเดียว ยังมีข้อเสียด้วย ถ้าฝึกผิดแนวทางหรือฝึกมากไป ก็เกิดโทษได้ เคยมีบางคนฝึกชี่กงมากไป ทำให้มีประจุไฟฟ้าทั้งตัว สัมผัสกับวัตถุได้ยากลำบาก หรือบางคนอาจนอนไม่หลับ”
คุณหมอเทอดศักดิ์บอกถึงข้อเสียบางอย่างในการฝึกฝนชี่กง ซึ่งเมื่อก่อนเขายังมีเวลาเปิดคอร์สอบรมให้คนทั่วไป แต่ปัจจุบันสอนเฉพาะผู้ป่วยที่เขาดูแล เนื่องจากมีเวลาไม่มากนัก เขาบอกว่า คนที่มีอาการวิตกกังวล ใจเต้น ใจสั่น เหงื่อออก ต้องฝึกไทเก๊กแบบลูกบอลไทเก๊ก ตัวเขาเองเคยฝึกฝนแล้วพบว่า วิธีการนี้ดีพอๆ กับการใช้ยา
นอกจากการฝึกฝนทางกายแล้ว สมาธิแนวพุทธก็เป็นสิ่งสำคัญ คุณหมอให้เวลากับเรื่องพวกนี้เต็มที่ เขาอธิบายว่า ไม่ว่าศาสตร์ใดก็ตาม ไม่อาจตอบเป้าหมายของชีวิตได้ อย่างไทเก๊ก โยคะ ชี่กง ก็แค่ตอบคำถามขั้นพื้นฐานว่า เราจะทำให้ร่างกายมีประสิทธิภาพได้อย่างไร ถ้าถามว่าคนเราเกิดมาเพื่ออะไรศาสตร์พวกนี้ยังตอบคำถามไม่ได้ ต้องใช้พุทธศาสนา
การประยุกต์ทั้งเรื่องศาสตร์ตะวันออกและพุทธศาสนาในเบื้องต้น คุณหมอเทอดศักดิ์บอกว่า มีส่วนทำให้คนไข้ใช้ยาน้อยลง และพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น แต่ถ้ามองในมิติลึกลงไปต้องเรียนรู้แนวพุทธศาสนา
“ผมสนใจพุทธศาสนาตั้งแต่เด็กเพราะคุณพ่อ แต่ไม่มีใครสอน เราก็ศึกษาเรื่องพวกนี้เอง ถ้ามีเวลาก็จะไปปฏิบัติที่วัดบนเขาในจังหวัดหนองคาย การฝึกสมาธิทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ตัวเอง ต้องเข้าใจว่า สาเหตุที่คนเรามีศักยภาพจำกัดก็เพราะตัวเราเอง ทั้งๆ ที่คนเรามีศักยภาพมากมาย ยกตัวอย่าง บางคนมองโลกในแง่ร้าย บางคนทำงานไปเรื่อยๆ โดยไม่ตั้งเป้าหมายในชีวิต ไม่ได้ใช้ความสามารถที่มีอยู่ ผมก็เรียนรู้จากตรงนี้ ผมจะรู้ว่าวันนี้ผมต้องทำอะไรบ้าง ผมจะมีเป้าหมายเสมอ”
หลักการง่ายๆ ของคุณหมอก็คือ ถ้าคนเราไม่มีเป้าหมายก็ยากจะพบกับความสุข เพราะคนเราจะไม่มีความสุขกับเหตุบังเอิญได้ ในระดับคนทั่วไปขอแนะว่า ควรตั้งเป้าหมายเชิงปริมาณให้ได้ก่อน เช่น ตั้งเป้าว่าจะอ่านหนังสือวันละ 50 หน้า ก็ต้องอ่านให้ได้ 51 หน้า เพื่อให้เกิดความเคยชินว่า เราทำได้มากกว่าที่ตั้งใจ โดยเฉพาะคนเบื่องาน คือ ตื่นมาแล้วไม่อยากไปทำงาน เพราะไม่มีแรงจูงใจในชีวิต เป็นโรคเรื้อรังของคนยุคปัจจุบัน
คุณหมอแนะว่า ควรปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เพราะอยู่ที่วิถีคิด อย่างคุณรอรถเมล์ คุณมีเป้าหมายอย่างไร ถ้าถามคนที่รอรถเมล์ เขาจะตอบว่า อยากให้รถเมล์มาเร็วๆ และมีที่นั่งว่าง
นี่คือความคาดหวังที่ผิด เพราะเป็นสิ่งคาดหวังที่ควบคุมไม่ได้ ใครก็ตามที่คาดหวังในสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ก็มักจะผิดหวัง คุณหมอแนะว่า ควรตั้งเป้าหมายว่าถ้ารถเมล์มาคุณจะปักหลักอยู่ตรงไหน จะกระโดดขึ้นให้ทันอย่างไร ส่วนเรื่องมาเร็วหรือช้าไม่ใช่เป้าหมาย
อีกกรณีก็คือ เป้าหมายต้องสอดคล้องกับชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างคนที่เข็นเปลคนไข้ เราพบว่า คนที่มีความทุกข์ เพราะหวังว่าวันนี้เปลจะว่าง ส่วนคนที่มีความสุขจะตั้งเป้าหมายว่า วันนี้ฉันจะเข็นได้กี่ราย คนที่ตั้งเป้าหมายได้สอดคล้องกับงาน ก็จะมีความสุข
เขาบอกว่า การอบรมเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาการของมนุษย์ เป็นส่วนหนึ่งของงานเขา เราจำเป็นต้องย่อยสลายวิธีคิดให้เป็นกระบวนการที่เรียนรู้ได้ เราต้องบอกว่าแต่ละอย่างมีการเรียนรู้และทดลองได้อย่างไร หรือมีเป้าหมายอย่างไร
“เวลามีคนถามว่า พนักงานไม่มีความสุขเพราะหาลูกค้าไม่ได้ เขาจะย้อนถามว่า แล้วมีใครบ้างที่มีความสุข คนเหล่านั้นคือคำตอบสำหรับเรา เหมือนคนเข็นเปลบอกว่า วันนี้เขาจะเข็นเปลได้สักแปดราย นี่คือคำตอบ พอเราได้คำตอบ เราก็เอาสิ่งเหล่านี้นำมาเป็นกระบวนการ ผมชอบคำพูดของเชลยศึกสงครามคนหนึ่ง เขาบอกว่าคนเราเลือกเหตุการณ์ไม่ได้ แต่เลือกความรู้สึกต่อเหตุการณ์นั้นได้ เพราะฉะนั้นเราต้องตัดสินใจว่า สิ่งใดเลือกได้ อย่างการรอรถเมล์ จะรออย่างไร”
เมื่อถามถึงการนำธรรมะมาใช้กับชีวิต คุณหมอบอกว่า ปัญหาอย่างหนึ่งคือ คนมักจะใช้ธรรมะผิดเรื่อง มันก็เลยเกิดปัญหา ยกตัวอย่างการใช้อุเบกขาในสถานการณ์ที่ต้องใช้ความเมตตา อย่างมีพนักงานคนหนึ่งมาขอขึ้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษ หัวหน้าจะใช้เมตตาหรืออุเบกขา ถ้าใช้อุเบกขาก็คือ นั่งฟังเฉยๆ ไม่สนองอะไร หรือตอบสนองอย่างมีความเมตตา กรณีแบบนี้ หัวหน้าอาจแนะว่า คุณลองทำงานแบบนั้นแบบนี้ แล้วจะสนับสนุนเต็มที่ ในกรณีนี้ต้องมีความกรุณาด้วย ไม่ใช่วางเฉย
อีกกรณีที่เขายกตัวอย่างคือ ปู่ย่ามักจะเลี้ยงลูกหลานดีเกินไป ถ้ารู้จักสอดแทรกให้พวกเขารู้จักความเพียรพยายามในการดำเนินชีวิต ลูกหลานก็ได้เรียนรู้มุมอื่นๆ บ้าง
เพราะฉะนั้นคุณธรรมเป็นเรื่องที่ดี แต่ถามว่าจะใช้อย่างไร แล้วผลเป็นอย่างไร ถ้าผลไม่ได้ดั่งใจ ก็อย่าไปโทษว่า คนอื่นผิดหรือคุณธรรมไม่สูง
อย่างเรื่องการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ ก็มีคำอธิบาย คุณหมอยื่นช้อนมาให้ แล้วถามว่า คุณลองบิดเป็นเกลียวได้ไหม เราตอบว่า ได้ ถ้าช้อนไม่แข็งมาก เขาบอกว่า ตัวเขาเองลองบิดไปบิดมา ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่า เป็นสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง
“สิ่งที่ผมให้ดูตรงนี้ก็คือ มนุษย์เรามีศักยภาพเยอะ เราสามารถบิดช้อนให้เป็นเกลียวได้ โดยเหตุผลสองประการคือ ข้อแรกต้องรู้ว่าทำอย่างไร (Know How) และข้อสอง ต้องเชื่อว่า Know How นี้เป็นไปได้ แต่ส่วนใหญ่มีข้อแรกไม่มีข้อสอง หรือบางคนอาจขาดทั้งสองอย่าง เราต้องเข้าใจว่า ประสิทธิภาพของเราเพิ่มได้โดยสองข้อนี้ ต้องนำศรัทธามาใช้ให้เกิดประโยชน์”
คุณหมอยกตัวอย่างว่า เคยมีการทดลองในคนไข้ ถ้าเขามีใจเชื่อว่าจะหายป่วย โรคของเขาจะหายได้เร็วหรือช้าปรากฏว่า สามารถหายป่วยได้เร็วกว่าคนที่ไม่ได้คิดเรื่องนี้ ในกระบวนการทำงานของโรคภัยไข้เจ็บ เป็นไปได้ที่เราจะใช้ศักยภาพที่มีอยู่ แต่ต้องตัดสิ่งที่รบกวนศักยภาพของเราคือ 1.ความคิด ส่วนใหญ่ชอบคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ 2.ความเครียดอารมณ์ด้านลบ เราอาจตัดสินใจผิดๆ ในตอนนั้น ยกตัวอย่างบางคนถูกยึดรถ ก็อยากจะกระโดดตึกตาย ทั้งๆ ที่มีบ้านเหลืออยู่ และ 3. สภาวะจิตใจ หมายถึงภาครวมของตัวเรา จากพื้นฐานเดิมและสิ่งที่มากระทบ
ส่วนวิธีการที่จะทำบางอย่างที่หลายคนเห็นว่าทำไม่ได้ คุณหมอบอกว่า บางอย่างเกิดจากการเรียนรู้โดยทฤษฎีหรือข้อมูล บางอย่างก็เข้าใจได้ด้วยตัวเองโดยไม่มีคำอธิบาย อย่างเรื่องการบิดช้อนให้เป็นเกลียว ต้องเชื่อก่อนว่า เราทำได้
“ผมก็เคยถามคนที่ทำได้ว่าทำอย่างไร เขาบอกว่าต้องสร้างความเชื่อ ระหว่างนั้นเขาจับมันและลูบจนช้อนร้อน เพราะคนมีสมาธิ มือจะร้อน เขาก็ทำได้ แต่ประเด็นสำคัญก็คือ การบิดช้อนเป็นเรื่องเล็ก ที่สำคัญเราต้องเชื่อว่า จะผ่านอุปสรรคในชีวิตไปได้ เราต้องเรียนรู้ Know How ผมเอาเรื่องพวกนี้ไปประยุกต์ใช้ สร้างกระบวนการเพื่อให้คนที่มีปัญหาผ่านอุปสรรคไปได้
ยกตัวอย่างมีหน่วยงานหนึ่งกำลังจะปลดพนักงาน 30 คน แต่ละคนจึงรู้สึกแย่ ถ้าสองปีไม่ได้ขึ้นเงินเดือนอาจต้องถูกปลด แต่ผมให้มองว่านี่คือโอกาส แล้วฝึกกระบวนการต่างๆ ให้ เช่น ตั้งเป้าหมายในชีวิต แล้วให้มองเหตุการณ์ในแง่บวก ให้เรียนรู้เข้าใจด้วยตัวเอง ใช้เวลา 1 เดือนครึ่ง เราพบว่า มีจำนวนมากกว่าครึ่งมองว่าการออกจากตำแหน่งคราวนี้เป็นเรื่องที่ดี มีผู้หญิงคนหนึ่งเล่าให้ผมว่าเครียดมาก แต่วันหนึ่งได้ไปเดินเทเวศร์เห็นแม่ค้าหาบเร่คนหนึ่งมีลูกสาวคอยช่วยขายของ ทั้งๆ ที่ขายไม่ดีนัก แต่เธอก็ยังรู้สึกว่า ในความโชคร้ายก็ยังมีโชคดี ชีวิตก็เป็นเช่นนั้นเอง เธอซื้อของกับแม่ค้าคนนั้น แล้วขอกอดลูกสาวแม่ค้าหนึ่งครั้ง เพราะทำให้เธอเข้าใจชีวิต” คุณหมอ ยกตัวอย่างคนที่สามารถตัดสิ่งที่รบกวนในชีวิตได้ แล้วคุยว่า
แม้กระทั่ง เรื่องความเครียดก็ต้องเรียนรู้ ต้องเรียนรู้ที่จะสังเกตตัวเอง อาจใช้วิธีการจดบันทึก แล้วจะรู้ว่า ตัวเรามีรูปแบบการทำอะไรซ้ำๆ ที่ทำให้ตัวเองลำบาก
“ผมให้คนไข้หญิงคนหนึ่งที่มักจะทะเลาะกับสามีเป็นประจำ เพราะเวลาจะออกไปไหน มักจะตกลงกันไม่ได้ ผมบอกให้เธอลองเปลี่ยนความคิดใหม่ บางครั้งอาจบอกสามีว่า “เห็นด้วยทำแบบที่เธอบอก” แล้วดูว่า จะเกิดอะไรขึ้น เธอย้อนว่า ทำแบบนี้ก็ไม่เป็นตัวของตัวเอง แต่เธอก็ลองปฏิบัติตามวิธีของคุณหมอ วันหยุดที่ผ่านมา เธอชวนสามีไปดูต้นไม้ที่สวนจตุจักร สามีบอกว่า "ไม่ไป จะไปมีนบุรี" เธอก็เลยบอกสามีว่า "ไปมีนบุรีก็ได้ ดีเหมือนกัน" ปรากฏว่า สามีตกใจมาก ทำไมภรรยาเปลี่ยนไป และคุณหมอบอกว่าให้สังเกตสามีว่ามีปฏิกิริยาอย่างไร สุดท้ายสามีไม่กลับมาในห้องนั้น แต่ให้ลูกสาวมาบอกว่า "พ่อบอกว่า เสาร์นี้จะไปจตุจักรนะ” "
อย่างไรก็ตาม คุณหมอย้ำอีกว่า การปฏิบัติต่างจากเดิม ไม่ได้หมายความว่าจะได้ผลเสมอไป แต่อยากจะบอกว่า ชีวิตยังมีทางเลือกอีกหลายอย่าง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]
<< หน้าแรก