จิตวิทยาการเดาใจคนและการรู้จักมองคน

วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2552

การแข่งขัน กับ การพักผ่อน

ยุคนี้คำว่า การแข่งขัน กำลังขึ้นสมอง ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องบอกว่า ต้องพร้อมสำหรับการแข่งขัน นี่อาจจะเว้นเฉพาะคนที่มีอาชีพเป็น ศิลปิน บริสุทธิ์ แบบ คุณถวัลย์ ดัชนี ที่ขายตัวเองได้ด้วยความยิ่งใหญ่บารมี ไม่ต้องรอให้อากู๋โปรโมตแบบศิลปินแกรมมี่
แต่หากเป็นคนธรรมดา ไม่ว่าจะทำอะไร ก็มักจะต้องแข่งขันอยู่ดี บางคนแข่งแบบไม่ลืมหูลืมตา จนป่วยไปเลยก็มี หรือไม่ก็แข่งจนเหนื่อยตายไปก็มี เพราะว่าลืมพักผ่อน
ฝรั่งให้ความสำคัญกับการพักผ่อนอย่างมีวินัย เห็นได้จากการที่ผู้บริหารฝรั่งมีการลาหยุดกันได้เป็นเดือนๆ และเขาก็ใช้มันอย่างจริงจัง หายไปจากสำนักงานไปพักผ่อนกันจริงๆ
ตอนนี้เป็นยุคสื่อสารไร้พรมแดน มีการทำการศึกษาเรื่องการพักผ่อน ว่าการที่คนมีวิถีชีวิตเปลี่ยนไปโดยมีเครื่องมือสื่อสารและอำนวยความสะดวกมากขึ้นนั้น ได้พักผ่อนมากขึ้นกว่าแต่ก่อนไหม
พูดถึงเรื่องนี้ก็แวบไปถึงเมื่อวันก่อนแวะเยี่ยมเพื่อน เธอเพิ่งซื้อเครื่องล้างจานมา หลังจากรับประทานอาหารเช้าด้วยกัน จะช่วยเธอล้างถ้วยล้างจาน เธอก็บอกเอาไว้นั่น เดี๋ยวให้เครื่องมันจัดการ แล้วเราก็มานั่งคุยกันต่อ
คนอเมริกันเขาช่างทำการศึกษาทุกๆ เรื่องเอาไว้ ขณะนี้มีนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันสองคนทำวิจัยเรื่องการพักผ่อนของคนอเมริกันในยุคปัจจุบัน ผลสรุปออกมาว่าคนอเมริกันพักผ่อนมากขึ้น
นักเศรษฐศาสตร์สองคนนี้คนหนึ่งทำงานอยู่ที่เฟด หรือ Federal Reserve Bank at Boston ซึ่งเป็นงานแบบเดียวกับที่ อลัน กรีนสแปน ทำ เพียงแต่อันนี้อยู่ที่บอสตัน อีกคนอยู่ที่ University of Chicago"s Graduate School of Business ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงทั้งคู่
วิธีทำวิจัยคล้ายกับที่บ้านเรามีการวิจัยตลาดกัน คือให้กลุ่มเป้าหมายเขียนไดอารี การวิจัยด้วยการเก็บข้อมูลจากไดอารีนี้มีมานานและเป็นที่นิยมกัน เขาให้กลุ่มเป้าหมายซึ่งในกรณีนี้ไม่ได้รวมพวกหลังเกษียณไว้บันทึกว่าตลอดวันทำอะไร ไม่ใช่แค่ที่ที่ทำงานแต่หลังและก่อนเข้าทำงานด้วย (ตอนหลับคงไม่ต้องบันทึกว่าฝันว่าอะไร มากไป)
แล้วเขาก็แบ่งวิธีวัดการพักผ่อนออกเป็น 4 แบบ อันที่ตีวงแคบที่สุดรวมถึงกิจกรรมอะไรก็ตามที่คนถือว่าเป็นการผ่อนคลายหรือสนุกสนาน ส่วนอันที่กว้างออกไปก็หมายถึงอะไรก็ตามที่ทำแล้วไม่ได้รับค่าจ้าง งานบ้าน หรือการวิ่งออกไปทำธุระ
เขาบอกว่าสี่สิบปีที่ผ่านมานี่คนอเมริกันพักผ่อนมากขึ้น 4-8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถ้าหากเทียบจากว่าทำงานกันอาทิตย์ละ 40 ชั่วโมง ก็เท่ากับได้เวลาพักมากขึ้นถึง 5-10 สัปดาห์ต่อปีที่น่าสนใจก็คือคนอเมริกันทั้งเพศหญิงและชาย ทั้งการศึกษาสูงและน้อย แต่งงานหรือเป็นโสด มีลูกหรือไม่มี ต่างพักผ่อนมากขึ้นทั้งนั้น และที่แปลกก็คือคนที่การศึกษาน้อยแต่มีงานทำพักผ่อนดีกว่าคนที่รวยและมีงานดีๆ
ข้อสังเกตอีกอันหนึ่งก็คือเมื่อเปรียบเทียบคนอเมริกันกับคนยุโรปในประเทศที่ร่ำรวย คนอเมริกันก็ยังทำงานในสำนักงานยาวนานกว่าคนยุโรป เพราะว่าตัวเลขชั่วโมงทำงานของคนยุโรปลดลงนั่นเอง
ทีนี้ต้องหันมาดูว่าทำไมท่านนักวิจัยทั้งสองจึงร่วมสรุปกันสรุปว่าคนอเมริกันพักผ่อนมากขึ้น อันนี้มันขึ้นอยู่กับคำจำกัดความของทั้งสองคนว่าอะไรที่เป็นการทำงาน อะไรที่เป็นการพักผ่อน และข้อมูลที่ได้มาเป็นแบบไหน
ทั้งสองบอกว่าการเก็บข้อมูลของทางราชการซึ่งเก็บจากเฉพาะที่ทำงานนั้นไม่ถูกต้อง อันนั้นเหมาะกับยุคที่คนทำงานกันในโรงงานอุตสาหกรรมและสำนักงานล้วนๆ เดี๋ยวนี้คนทำงานที่บ้านก็มี ทำงานอิสระก็มี แล้วเขาก็ถือว่าการจับจ่ายซื้อของ การเตรียมอาหารให้ตัวเองและครอบครัว ออกไปทำธุระ และทำงานบ้าน พวกนี้ก็คืองานเหมือนกัน งานพวกนี้แหละหนักเท่ากับงานสำนักงานเลยทีเดียว โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิงที่ต้องดูแลลูกด้วยทำงานนอกบ้านด้วย หนักหยอกใคร ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ชายไทยส่วนใหญ่จะเห็นว่างานบ้านนั่นก็งานนะคะ
ญาติของผู้เขียนคนหนึ่งมีลูกสองคน เธอชอบมาทำงานที่บริษัทมาก เพราะเห็นว่างานบริษัทสบายกว่าการเลี้ยงดูลูกสองคนที่บ้าน ส่วนผู้เขียนนั้นก็เห็นว่างานที่บริษัทหนักมาก แต่งานบ้านเป็นเรื่องเบาและสนุก ไม่ว่าจะเป็นซักผ้า ทำกับข้าว จัดบ้าน รดน้ำต้นไม้ หรือแม้กระทั่งหาเห็บให้สุนัข งานพวกนี้ถ้าในสายตาของนักวิจัยทั้งสองก็คงเป็นงานเหมือนกันนะคะ
ในงานวิจัยชิ้นนี้ เขาบอกว่าคนอเมริกันทำงานน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นงานที่ได้เงินหรืองานบ้าน ทั้งนี้เพราะมีเครื่องอำนวยความสะดวกมากขึ้น มีเดลิเวอรี่มากขึ้น มีบริการอื่นๆ สำหรับชีวิตมากขึ้น เช่น ออนไลน์ช็อปปิ้ง ถ้าในเวอร์ชั่นไทยก็คงบอกว่า มีอาหารสำเร็จรูปขายตามหัวมุมถนนต่างๆ (สกปรก แต่สะดวก ทำไงได้) มากขึ้น อาหารถุงพลาสติค อาหารกล่อง แม้แต่โอเลี้ยงกาแฟเย็นถุงพลาสติค ยังพัฒนาเป็นแก้วพลาสติค บางรถเข็นยังสิบบาทเท่าเดิมแม่บ้านทั้งหลายก็ไปทำงานหาเงินได้มากขึ้น
การเก็บข้อมูลด้วยไดอะรี่แบบนี้ไม่เฉพาะแต่อเมริกาที่ทำ แต่ออสเตรเลีย และประเทศในยุโรปหลายประเทศก็ทำกัน สำนักงานสถิติแห่งชาติของไทยจะทำไหมคะ ก่อนทำก็ต้องล้างสมองคนไทยก่อนนะคะว่าต้องบันทึกอย่างซื่อตรง ไม่ใช่ผักชีโรยหน้า หรือแต่งข้อมุลเพื่อให้ตัวเองดูดี ถึงจะเอาไปใช้ได้จริง
ถามว่าคนอเมริกันคิดยังไงกับผลวิจัยอันนี้ ถ้าคนที่รายได้น้อยหน่อยอาจจะบอกว่า เอ เห็นท่าเราจะต้องทำงานมากขึ้น แต่สำหรับคนอเมริกันส่วนใหญ่ดูเหมือนว่าจะพอใจที่ได้พักผ่อนมากขึ้น
และที่สำคัญมันหมายถึงว่าการทำงานน้อยลงแต่รายได้ไม่ได้ลดลงนั้นคือ เวลาของเขามี (มูล) ค่ามากขึ้นนั่นเอง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก