โรคประสาท
ในบรรดาผู้ทุกข์ที่มาปรึกษาผมที่คลินิก ดูๆ แล้วจะมีผู้ทุกข์ที่เป็นโรคประสาทมากที่สุด
ยกตัวอย่างเช่น สตรีสาวสวยคนหนึ่ง มีการศึกษาดี มาปรึกษาด้วยอาการขาดความมั่นใจตัวเอง คิดมา เพราะเห็นแฟนมีความก้าวหน้ามากกว่าตน กลัวว่าเขาจะไปชอบคนอื่น กลัวว่าตนจะถูกทอดทิ้ง ต้องให้แฟนโทรศัพท์มาหาบ่อยๆ ถ้าเขาไม่โทรมาหาก็จะกังวลและรอคอยจนเป็นทุกข์ เวลาพบกันก็อยากให้เขาเอาใจ เขาทำงานดึกดื่นก็ต้องให้เขาขับรถมาหา และมีความสัมพันธ์ทางเพศกันแล้วจึงจะให้กลับไปได้ ถ้าแฟนไม่มาหาก็ไม่สบายใจ มีความทุกข์มาก
ในช่วงที่มีเซ็กซ์ก็ไม่ได้มีความสุข เมื่อเสร็จสิ้นแล้วก็กังวลว่าตัวเองทำผิดไปหรือเปล่า กลัวเขาจะรำคาญและไม่รักจริง
อีกคนหนึ่งเป็นชายวัย 30 เศษ มีการศึกษาและการงานดี มีความทุกข์ในเวลาที่เห็นศาลพระภูมิแล้วจะกังวลและกลัวมาก เวลาไปเยี่ยมเพื่อนหรือไปตามที่ทำงานต่างๆ พอเห็นศาลพระภูมิพาลจะเป็นลม หน้าซีด ใจสั่น หมดแรง นี่เป็นความวิตกกังวล กลายเป็นโรคประสาทชนิดหวาดกลัว เพราะในจิตใต้สำนึกจะกลัวพ่อมาก ถูกเลี้ยงดูมาให้กลัว หรือพ่อก้าวร้าว ดุมาก ลูกชายจึงกลัวพ่อแล้วย้ายความกลัวนั้นมาที่ศาลพระภูมิ ซึ่งเป็นตัวแทนของพ่อ จึงทำให้เขาหวาดกลัวศาลพระภูมิมาก
บางรายเป็นสตรีที่กังวลและกลัวกระบอกปืนมาก บางรายกังวลมากเมื่อเห็นไส้กรอก เนื่องมาจากสิ่งดังกล่าวเป็นตัวแทนของอวัยวะเพศชาย เนื่องจากเธอมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องเซ็กซ์ และอวัยวะเพศชายตลอดมา เธอจึงย้ายความกลัวนั้นไปสู่วัตถุที่เป็นตัวแทนของอวัยวะเพศชายแทน เช่น กระบอกปืน ไส้กรอก หรืองู ซึ่งถือว่าเป็นโรคประสาทชนิดหวาดกลัว (Phobic Neurosis) ได้
โรคประสาทนี้เกิดได้มากในหมู่คน เป็นความผิดปกติทางจิตที่ไม่รุนแรงเท่าโรคจิต (โรคบ้า) ผู้ทุกข์ยังรู้จักตนเองดี ยังรู้ว่าทุกข์ ยังแสวงหาผู้ช่วยเหลือ ยังรับรู้ความจริง (Reality) ได้ ยังเป็นที่ยอมรับของสังคมได้
โรคประสาทเกิดจากการปรับอารมณ์และความคิดได้อย่างไม่เหมาะสม เมื่อเกิดความขัดแย้งในใจ อาการที่พบได้บ่อยๆ เช่น วิตกกังวลมากเกินไป หวาดกลัวอย่างไม่สมเหตุสมผล ซึมเศร้ามาก ย้ำคิดย้ำทำ ขาดความสุข ฯลฯ
สาเหตุของโรคประสาท
เชื่อว่าเกิดได้จากสาเหตุดังนี้
1. มีบุคลิกภาพที่ไม่เหมาะสม มีแนวโน้มที่จะปรับตัวได้ยากเมื่อเกิดปัญหา ความกดดัน ความขัดแย้ง มาจากการเลี้ยงดูตั้งแต่วัยเด็ก และประสบการณ์ที่ไม่เหมาะสมตั้งแต่วัยเด็ก เช่น
คนที่ชอบเป็นคนสมบูรณ์แบบ มักจะเป็นโรคประสาทชนิดย้ำคิดย้ำทำ
คนที่เรียกร้องความรักและความสนใจมาก มักเป็นโรคประสาทชนิดฮีสทีเรีย
คนที่คิดถึงตัวเองในแง่ปมด้อย มักจะเป็นโรคประสาทชนิดซึมเศร้า
คนที่มีความคาดหวังสูงเกินความเป็นจริง มักจะเป็นโรคประสาทชนิดวิตกกังวล
คนที่ถูกเลี้ยงดูมาให้มีความหวาดกลัวพ่อแม่มากๆ มักจะเป็นโรคประสาทชนิดหวาดกลัว ฯลฯ
2. จากประสบการณ์ที่ไม่ดีในชีวิต ทำให้เกิดเป็นรอยจารึก ที่ไม่ดี เกิดความฝังใจและเป็นความทุกข์ต่อไป เช่น ถ้าถูกทอดทิ้งโดยคนรัก อกหัก จะฝังใจต่อภาวะอกหัก และกลัวการมีแฟน จะเครียดได้ง่าย เมื่อต้องอยู่กับคนต่างเพศ หรือถ้าเด็กๆ เคยถูกเพื่อนล้อเลียนลักษณะด้อยบางอย่าง จะฝังใจและกังวลกลัวการถูกล้อเลียนได้ การที่มีความคับข้องใจและหาทางออกแบบไม่เหมาะสมนี้ จะทำให้กลายเป็นนิสัยที่ไม่ดีได้ เช่น กังวลมาก กลัวมาก
3. จากกรรมพันธุ์ และสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี ถ้ามีคนที่เป็นโรคประสาทอยู่ใกล้ตัว จะทำให้เป็นโรคประสาทได้ง่ายขึ้น
ชนิดของโรคประสาท
แบ่งได้เป็นหลายๆ อย่างดังนี้
1. โรคประสาทชนิดกังวล (Anxiety Neurosis) จะมีความกังวลมากกว่าปกติ มีความตึงเครียดมาก
2. โรคประสาทฮิสทีเรีย (Hysterical Neurosis) เป็นลักษณะของความวิตกกังวลที่เปลี่ยนไปเป็นความเจ็บป่วยพิการทางกาย เช่น ชักโดยไม่มีสาเหตุ หรือเป็นอัมพาตโดยไม่มีสาเหตุ หรืออาจจะเปลี่ยนจากความวิตกกังวลกลายเป็นคนมีผีเข้าเจ้าสิงก็ได้
3. โรคประสาทชนิดหวาดกลัว (Phobic Neurosis) จะมีความหวาดกลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัว เช่น กลัวความสูง กลัวสัตว์บางชนิด กลัวฝูงคน ฯลฯ
4. โรคประสาทชนิดย้ำคิดย้ำทำ (Obscessive Compulsive Neurosis) ชอบคิดซ้ำๆ ทำซ้ำๆ เช่น คิดว่ามือสกปรกต้องล้างมือบ่อยๆ หรือเช็คดูความเรียบร้อยของกลอนประตูหน้าต่างบ่อยๆ จนเป็นทุกข์ เป็นต้น
5. โรคประสาทชนิดซึมเศร้า (Depressive Neurosis) จะมีความซึมเศร้ามากกว่าปกติ โดยเฉพาะเวลาสูญเสียสิ่งรัก
6. โรคประสาทที่คิดว่าตัวเองด้อยความเป็นคนลงไป (Depersonalization) เช่น คิดว่าตนเองมีแขน ขา สั้นลงๆ หรือมีขนาดร่างกายเล็กลงๆ
7. โรคประสาทชนิดอ่อนเพลียง่าย (Neurasthenia) พวกนี้มักรู้สึกอ่อนเพลียง่ายหงุดหงิด ปวดหัว ซึมเศร้า ขาดสมาธิ รู้สึกสุขภาพไม่ดี หมดกำลังใจลงเรื่อยๆ
8. โรคประสาทแบบหมกมุ่นกับสุขภาพมากไป (Hypochondriasis) ผู้ป่วยจะมีอาการหมกมุ่น และย้ำคิดย้ำทำเกี่ยวกับสุขภาพหรือสุขภาพจิตมากไป และมีอาการทางร่างกายร่วมไปด้วยโดยหาเหตุผลไม่ได้ พวกนี้มีลักษณะรักตนเองมากเกินปกติ จะนึกถึงตนเองและร่างกายตนเองมากเกินไป จะรู้สึกป่วยในขณะที่คนอื่นไม่รู้สึกอะไร มักเป็นคนเจ้าระเบียบ ระแวงสงสัย ไม่แน่ใจสิ่งแวดล้อม อาจมีประสบการณ์พบเห็นคนในครอบครัวเจ็บป่วย ตนเองมีความกดดันทางจิตและสังคม จึงคอยนึกว่าตนเองจะเจ็บป่วยไปด้วย มักไปหาแพทย์เพื่อตรวจโรคที่ตนมีอาการ แต่ก็ไม่พบความผิดปกติ คนไข้ไม่พอใจหมอ บางรายโต้เถียงเป็นเรื่องราวกันก็มี หาว่าแพทย์ตรวจไม่ดี บริการไม่ดี ความเจ็บป่วยที่คิดไปเองเหล่านี้ จะทำความรำคาญให้คนใกล้ชิดด้วย ผู้ป่วยมักจะวิตกกังวลคละเศร้าอยู่เสมอ
การรักษาโรคประสาทนั้นต้องอาศัยการใช้ยา การใช้จิตบำบัดและพฤติกรรมบำบัด บางรายก็หายได้ง่าย บางรายก็หายได้ยาก โดยเฉพาะพวกที่ต่อต้านหรือไม่ให้ความร่วมมือ
โรคประสาทนี้เป็นกันมากในสังคม และจะเป็นกันมากขึ้นๆ ลองๆ เหลียวดูรอบๆ ตัวเองซิว่ามีคนเป็นโรคประสาทกี่คนแล้ว และตัวเองเป็นด้วยหรือเปล่า ?
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]
<< หน้าแรก