จิตวิทยาการเดาใจคนและการรู้จักมองคน

วันเสาร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2553

ทำอย่างไรจะมีคู่โดยได้คู่ที่ดีด้วย

หญิงไม่อยากมีสามี อันพวงบุปผามาลัย ควรจำธรรมดานาไร่ ฉันใดชาดานารี หาในโลกนี้หาไหน เกลียดแมลงภู่ไซร้ ฤามี จักไม่รับไถใช่ที่ พึงมีสามีแนบตัว
พระนิพนธ์ กรมหมื่นทิพยาลงกรณ์ (นมส.)

พระนิพนธ์เรื่อง กนกนคร ที่ยกมานี้ เป็นคำตรัสของท้าวชัยทัตกับพระมเหสี เมื่อพระมเหสีทูลว่า กนกเรขา พระธิดา "ไม่คิดมีคู่" คตินี้สตรีตะวันตกทุกวันนี้ อาจเห็นว่าเร่อร่าล้าสมัยเสียแล้ว แต่หญิงไทยโดยมากคงเห็นด้วย ปัญหาอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจะมีคู่โดยได้คู่ที่ดีด้วย
เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นประสบการณ์ของแพทย์หญิง รุ่นอาวุโสคนหนึ่ง ซึ่งคงจะเป็นประโยชน์บ้างต่อน้องๆ ที่เป็นแพทย์หญิงและยังโสด แพทย์หญิงรุ่นอาวุโสท่านนี้คือ แพทย์หญิงมยุรี พลางกูร ซึ่งแพทย์รุ่นใหม่ส่วนใหญ่คงไม่รู้จักเพราะท่านเกษียณอายุราชการ ไปถึงสิบปีแล้ว แต่แพทย์รุ่นอาวุโสและรุ่นกลางๆ ส่วนมากจะรู้จักท่านดีเพราะท่านเป็นอาจารย์แพทย์ ของมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ซึ่งมีบทบาทสูงในเรื่องแพทย์ศาสตร์ศึกษาและเรื่องอื่นๆ เพื่อความสะดวกต่อไปจะขอเรียกท่านง่ายๆ ตามที่เคยเรียกอยู่เป็นประจำว่า "พี่มยุรี" แม้ผู้เขียนจะอายุน้อยกว่าท่านเกือบยี่สิบปี
"พี่ไม่ใช่คนสวย แต่เป็นคนคล่องแคล่ว และเข้ากับคนง่าย" นี่ดูจะเป็นกำลังใจของคนที่ไม่สวยทั้งหลายว่า แม้ไม่สวยก็ไม่เป็นเหตุให้ต้องร้างคู่ และขณะเดียวกัน ก็ดูจะเป็น

เคล็ดข้อแรก ของการที่ทำให้พี่มยุรีได้คู่นั่นคือ ความเป็นคนคล่องแคล่วเข้ากับคนง่ายพี่มยุรีเป็นบุตรสาวคนโตของ พระยาบำรุงราชบริหาร (เสมียร สุนทรเวช) ข้าราชสำนักในพระบาทสมเด็จ พระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เห็นนามสกุลแล้วหลายคนคงถามว่า เป็นอะไรกับคุณสมัคร สุนทรเวช คำตอบคือ คุณสมัครเป็นน้องคนที่เจ็ด คุณพ่อของพี่มยุรีนามสกุลสุนทรเวช แต่ไม่ได้เป็นหมอเหมือนพระยาแพทยพงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) ลุงของพี่มยุรี จึงอยากให้ลูกคนโตเป็นหมอ และก็ประสบความสำเร็จสมใจโดยพี่มยุรียอมเรียนหมอ จนสำเร็จจากศิริราช เมื่ออายุเพียง 21 ปี หลังจากนั้นก็สอบได้ทุน American University Women Association ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา ทุนดังกล่าวนี้มีเพียง 2 ทุน แบ่งเป็นสองสาขาคือ วิทยาศาสตร์ และอักษรศาสตร์ สอบเฉพาะภาษาอังกฤษ พี่มยุรีภาษาอังกฤษดีเพราะคุณพ่อให้เรียนพิเศษภาษาอังกฤษ กับครูฝรั่งตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมและตลอดหลักสูตรแพทย์หกปี จึงสอบได้ไปเป็นแพทย์ฝึกหัดที่มหาวิทยาลัยเจฟเฟอร์สัน ในเมืองฟิลาเดลเฟีย แล้วไปเป็นแพทย์ประจำบ้านอยู่บัลติมอร์ ในโรงพยาบาลในเครือของจอนส์ฮอปกินส์เรียนอยู่ 4-5 ปี ก็คิดถึงบ้าน เตรียมกลับเมืองไทย
พี่มยุรีสนิทสนมคุ้นเคยกับ คุณเภา สารสิน ซึ่งไปเรียนหนังสืออยู่ในอเมริกานานและเป็นประธานสมาคม นักเรียนไทยในอเมริกา ตอนที่พี่มยุรีจะเดินทางกลับเมืองไทย ในปี พ.ศ 2497 สามัคคีสมาคมซึ่งเป็นสมาคมของนักเรียนไทยในอังกฤษ กำลังจะมีการประชุมใหญ่ประจำปีในช่วงฤดูร้อน ได้มีหนังสือเชิญสมาคมนักเรียนไทยในอเมริกา ให้ส่งคนไปร่วมประชุมด้วย คุณเภา สารสิน ไม่ว่าง และเห็นพี่มยุรีซึ่งเป็น "คนคล่องแคล่วและเข้ากับคนง่าย" กำลังจะเดินทางกลับเมืองไทยพอดีจึงขอร้องให้เป็นผู้แทน ของนักเรียนไทยในอเมริกาไปประชุมครั้งนั้น พี่มยุรีใฝ่ฝันอยากโดยสารเรือควีนอะลิซาเบทมานานแล้ว ประกอบกับได้เตรียมตัวเก็บเงินซึ่งได้รับทั้งจากทุน American University Women Association และจากเงินเดือนแพทย์ประจำบ้านจึงได้นั่งเรือลำดังกล่าวสมใจนึก ไปขึ้นฝั่งประเทศอังกฤษที่ท่าเรือเซาแธมป์ตัน ท่าเดียวกับ ที่เรือไททานิกจากไปนั่นแหละ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ เรื่องที่สำคัญก็คือ ผู้ที่เดินทางไปรับพี่มยุรีที่ท่าเรือเซาแธมป์ตันคือ ดร.กำแหง พลางกูร นายกสามัคคีสมาคม ดร.กำแหง เป็นคนเรียนเก่ง จบปริญญาเอก ทางวิชากายวิภาคศาสตร์ จามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ด้วยคะแนนดีเยี่ยม และได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์ (Associate Professor) ของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมปริดจ์ ขณะนั้นพี่มยุรีอายุ 27 ปี ดร.กำแหง แก่กว่า 12 ปี แต่ยังเป็นโสด ดร.กำแหง ได้เขียนเล่าไว้ในภายหลังว่า สิ่งที่ประทับใจในตัวพี่มยุรี ตั้งแต่พบกันครั้งแรกก็คือ เสื้อสีแดงที่พี่มยุรีสวมใส่ในวันนั้น "เสื้อตัวนั้น พี่ดูจากแคตาลอกแล้วสั่งซื้อจากเมกซิโก มีสีแดงด้านหน้าเรียบๆ แต่ด้านหลังเป็นรูปอินเดียนแดงถักผมเปีย ดูเก๋ทีเดียว" พี่มยุรีเล่า

เคล็ดข้อที่สอง นั่นคือต้องรู้จักการแต่งกาย ที่เสริมบุคลิกภาพเพื่อให้ดูเก๋ สะดุดตาเพราะดังที่ทราบกันดีแล้วว่า ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง หลวงวิจิตรวาทการก็เคยเขียนไว้ว่า ระหว่างคนสวยกับคนดี ผู้ชายมักเลือกคนสวยก่อน จากนั้นจึงดูต่อไปว่าดีไหม สำหรับคนที่ไม่สวย จึงจำเป็นต้องใช้การแต่งกายช่วย การประชุมประจำปีของสามัคคีสมาคมปีนั้นจัดขึ้น ที่เมืองบาธทางตะวันออกของกรุงลอนดอน ใช้สถานที่ของโรงเรียนไบรอันสตัน ซึ่งเป็นพับลิคสกูลชั้นดี มีเนื้อที่กว้างขวาง ร่มรื่น ต้นไม้ใหญ่มาก นักเรียนไทยเกือบทั้งเกาะอังกฤษรวมหลายร้อยคน ไปร่วมประชุมกันเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน พี่มยุรีแสดงสปิริตอย่างเต็มที่ ให้ร่วมทีมโต้วาทีก็รับ ให้เล่นละครก็เล่น ให้เล่นกีฬาก็ไม่ปฏิเสธ จึงเป็นที่ชื่นชมของนักเรียนไทยในอังกฤษ

เคล็ดลับข้อที่สาม คือหาโอกาสแสดงออก เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและชื่นชมในสังคม ประเด็นนี้แม้ไม่เกี่ยวกับการหาคู่ครองโดยตรง แต่ก็ถือได้ว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ หลังการประชุมของสมาคม กลับเข้าไปกรุงลอนดอน พี่มยุรีไปพักกับอาจารย์เก่าตั้งแต่สมัยเรียนอยู่โรงเรียนเตรียมอุดม ซึ่งอาจารย์ท่านนั้นเป็นภริยาของทูตทหารบกคือ พันเอกอำนวย ชัยโรจน์ โดยพี่มยุรีเปลี่ยนใจอยู่อังกฤษต่อแทนที่จะเดินทางกลับประเทศไทย ทั้งนี้ตามคำแนะนำของ ดร.กำแหง ที่ทราบว่า พี่มยุรียังไม่ได้ปริญญาอะไรจากอเมริกาโดยให้เหตุผลว่า ถ้าไม่ได้ปริญญาจากเมืองนอกกลับไปเมืองไทยจะลำบาก และแนะนำให้เรียนวิชาเวชศาสตร์เขตร้อนที่มหาวิทยาลัยลอนดอน โดยดร.กำแหง ได้จัดการฝากให้ด้วย พี่มยุรีจึงได้เป็นนักเรียนอังกฤษ และอยู่ต่อมาถึง 4 ปี ทั้งนี้เพราะท่านทูตทหารบกมีเมตตา ขอทุนกระทรวงกลาโหมให้พี่มยุรีเรียนเวชศาสตร์เขตร้อน เพียง 6 เดือนเศษก็จบ เพราะพื้นฐานดีมากอยู่แล้วทั้งวิชาแพทย์ และภาษาอังกฤษ จึงต้องเรียนวิชาอื่นต่ออีกหลายวิชา จนครบกำหนดทุนจึงเดินทางกลับประเทศไทย ช่วงที่อยู่อังกฤษนี้เองที่พี่มยุรีตัดสินใจว่า ก่อนจะกลับเมืองไทยจะต้องมีสามีกลับไปด้วย เพราะอายุก็มากพอสมควรแล้ว พี่มยุรีนำประวัตินักเรียนไทยในอังกฤษทั้งหมดที่ยังโสดมาดู แล้วค่อยๆ คัดออกโดยวางเกณฑ์ว่า อาชีพใดเหมาะกับแพทย์หญิง รวมทั้งวัยและอื่นๆ คัดเหลือ 10 คน แล้วคัดอีกทีเหลือ 5 คน

เคล็ดข้อที่สี่ คือการวางแผนเลือกคนอย่างมีเหตุมีผล เพราะถ้าศึกษาจากธรรมนูญชีวิตของพระเทพเวทีแล้ว คู่ครองที่ดีที่เป็นคู่สร้างคู่สมนั้นต้องมีทั้ง ศรัทธาสมกัน ศีลสมกัน จาคะสมกันและปัญญาสมกัน "เมื่อคัดเหลือ 5 คน แล้ว พี่ก็ศึกษาทุกอย่างละเอียด แล้วพยายามเรียนรู้สิ่งที่แต่ละคนชอบอย่างเต็มที่ คนหนึ่งเป็นผู้พิพากษา ชอบเทนนิส พี่ศึกษาทั้งกฎกติกามารยาท และใครเป็นใครในแวดวงเทนนิส เมื่อพบกันจึงคุยกันอย่างออกรส จนเขาคิดว่าพี่เป็นนักเทนนิส"

เคล็ดข้อที่ห้า คือมีความตั้งใจและพยายามที่จะรู้จัก คนที่เราจะคบหาด้วย ทั้งเพื่อสร้างความประทับใจ และเพื่อเปิดทางให้รู้จักกันได้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไป สำหรับดร.กำแหง ซึ่งได้เดินทางจากเคมบริดจ์ เข้ากรุงลอนดอนวันเสาร์ เพื่อไปพบพี่มยุรีที่บ้านทูตทหารบก พี่มยุรีได้แสดงฝีมือทำอาหารคือ ข้าวตังหน้าตั้ง และขนมปังหน้าหมูเลี้ยง "การทำข้าวตังหน้าตั้งในกรุงลอนดอนไม่ใช่เรื่องง่าย พี่ต้องหุงข้าวให้แฉะมากๆ แล้วตากแดดล่วงหน้า 2-3 วัน จึงเอาไปทำข้าวตังหน้าตั้งได้"

เคล็ดข้อที่หก เสน่ห์ปลายจวัก เป็นสิ่งที่สอนกันมาแต่โบราณ ปัจจุบันผู้หญิงอาจไม่สนใจกันนักแล้ว แต่การที่ผู้หญิงอย่างพี่มยุรีซึ่งเป็นนักเรียนนอกในอเมริกาหลายปี และเป็นแพทย์หญิง แต่สามารถทำข้างตังหน้าตั้งและขนมปังหน้าหมู เลี้ยงแขกในอังกฤษได้ ย่อมเป็นเสน่ห์ปลายให้ชายโสด วัยใกล้สี่สิบได้ทึ่งไม่มากก็น้อย แต่พี่มยุรีก็ไม่ได้มุ่งคบหาแต่ ดร.กำแหงเพียงคนเดียว "ท่านทูตทหารบกแนะนำพี่ว่า อย่าง please ใครเป็นพิเศษ เพียงคนเดียว ให้ please ทุกคนเสมอกัน เพราะธรรมชาติผู้ชายถ้าเขารู้สึกว่าชนะใจผู้หญิงแล้ว ความกระตือรือร้นจะลดลงไป"

เคล็ดข้อที่เจ็ด เพื่อตอบแทนที่ ดร.กำแหง ฝากเข้าเรียนต่อ ในมหาวิทยาลัยลอนดอน พี่มยุรีจึงขอเชิญ ดร.กำแหง ไปดูละครในกรุงลอนดอน การชวนไปดูละครสำหรับคนอังกฤษ แสดงถึงความเป็นผู้มีรสนิยมสูง และเมื่อดูจบแล้ว ดร.กำแหง ได้ชวนสนทนาเรื่องละคร " คงเพื่อทดสอบภาษาอังกฤษของพี้ว่า สามารถเข้าถึงรสของละครได้แค่ไหน ซึ่งโชคดี ภาษาอังกฤษของพี่สบายอยู่แล้ว เพราะคุณพ่อให้เรียนพิเศษ กับครูฝรั่งอยู่หลายปี แล้วไปอยู่ที่อเมริกาอีกตั้ง 5-6 ปี " หลังจากนั้นมีจดหมายจาก ดร.กำแหง ที่ทำให้พี่มยุรีปลื้ม และจดจำถ้อยคำสำคัญในจดหมายนั้นได้ไม่รู้ลืม เพราะจดหมายเขียนว่า " I enjoy every minute being with you" และขอเชิญพี่มยุรีไปชมพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์ ของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ พี่มยุรีรับจดหมายแล้วอยากตอบทันที แต่ก็ข่มใจไว้สามวันจึงตอบ

เคล็ดข้อที่แปด เพราะถ้าตอบทันทีในความรู้สึกแบบไทยๆ ผู้ชายอาจรู้สึกว่า "ผู้หญิงคนนี้ง่าย" การรอจังหวะเวลา ให้เนิ่นนานออกไป แต่ไม่นานจนเกินไปนัก คำตอบที่ผู้ชายได้รับจึงสมควรและทวีคุณค่าขึ้นโดยปริยาย เมื่อไปชมพิพิธภัณฑ์ที่พี่มยุรีถูกทดสอบอีกครั้ง โดยคำถาม 20 คำถามจาก ดร.กำแหง ที่เก่งที่สุดคนหนึ่ง ในวิชากายวิภาคศาสตร์ ก้อนอวัยวะต่างๆ ที่ดองเก็บไว้ ถูกนำมาเป็นโจทย์ ซึ่งพี่มยุรีตอบได้หมดย่อมทำให้ ดร.กำแหง รู้สึกว่าผู้หญิงคนนี้มีสมปัญญา คือ ปัญญาสมกัน แต่บททดสอบที่เป็นบทชี้ขาดเกิดขึ้นโดยบังเอิญ วันหนึ่งพี่มยุรีได้รับเชิญไปงานเลี้ยงที่บ้านข้าราชการสถานทูตคนหนึ่ง พี่มยุรีไปช่วยทำอาหารตั้งแต่สิบโมงเช้า พอสิบเอ็ดโมงครึ่ง มีเสียงกริ่งเรียกที่หน้าประตู พี่มยุรีเป็นคนออกไปเปิดประตูรับ พบดร.กำแหง ควงคู่มากับสาวสวยสกุลสูงคนหนึ่ง ดร.กำแหง มีท่าทางตกใจมาก เพราะไม่นึกไม่ฝันว่าพี่มยุรีจะมางานนี้ด้วย แต่พี่มยุรีควบคุมตนเองได้อย่างดี ไม่แสดงอาการหวั่นไหวใดๆ ทั้งที่จริงแล้ว "หัวใจแทบสลาย" พี่มยุรีเชิญ "แขก" ทั้งสองเข้าบ้านนำเครื่องดื่มไปให้ แล้วอยู่ในงานนั้นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น โดยยังคงความแช่มชื่นเบิกบานไว้ได้อย่างดี วันเสาร์ต่อมา ได้พบ ดร.กำแหง อีก พี่มยุรีไม่ถามถึงเหตุการณ์ในวันก่อนเลย

เคล็ดลับข้อที่เก้า ซึ่งเป็นข้อที่สำคัญยิ่ง "คุณกำแหง คงเห็นว่า ผู้หญิงคนนี้เหมาะที่จะเลือกเป็นคู่ชีวิต หลังจากที่เลือกมานาน" พี่มยุรีแต่งงานกับ ดร.กำแหง ที่อังกฤษ เมื่อพี่มยุรีอายุได้ 28 และ ดร.กำแหง อายุได้ 40 เรื่องราวของพี่มยุรี คงให้ข้อคิดแก่ผู้หญิงโดยเฉพาะแพทย์หญิง ไม่มากก็น้อย
แม้เคล็ดต่างๆ แต่ละข้อจะสรุปจากเหตุการณ์ อย่างไม่เป็นระบบเลยก็ตาม ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จในการมีคู่ครองโดยได้คู่ครองที่ดี เพื่อไม่ต้องปวดร้าวตามบทกวีของ อังคาร กัลยาพงศ์ ที่ว่า
ฟ้าสร้างสิทธัตถะพี่ เป็นคู่ม้วยเมื่อสมัยทอง ธรรมธิเบศร์มหากวี มอดม้วยด้วยแรงรักนั้น แม้แต่บุหงาลดาวัลย์ ฟ้าเมตตามิกล้าให้ระทม แต่ฟ้าปั้นฉันคนเดียว มีพิมพายโสธราน้อง ของบุราณดึกดำบรรพ์ มีหญิงสังวาลย์เป็นมิ่งขวัญ ทุกชีวันพบชู้คู่ชม อัศจรรย์ผึ้งภู่สู่สม บรมสุขทุกจุลินทรีย์ เปล่าเปลี่ยวใจไฉนฉะนี้

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก